Happy Valentine's Day

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนนอกกะลา


           
            ทำและเป็นมาแล้วหลายอย่างสำหรับ 'มีชัย วีระไวทยะ'  ในวัย 68 ปี ทั้งรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา, ประธานแบงก์, ประธานบอร์ดบริษัทใหญ่ๆ ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค ยันกระทั่งพระเอกโกโบริคนแรกของเมืองไทย และล่าสุดกับบทบาทใหม่ 'คุณครูใหญ่’ โรงเรียนมัธยมลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
     คนทั่วไปมักจดจำเขาจากบทบาท 'มิสเตอร์คอนดอม' ในฐานะคนแรกที่เคลื่อนไหวรณรงค์วางแผนครอบครัวในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2517 จนยี่ห้อ 'มีชัย' กลายเป็นตำนานคู่การคุมกำเนิดจนถึงทุกวันนี้
นอกเหนือบทบาทนักพัฒนาสังคมต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ถึงตอนนี้โรงเรียนแห่งใหม่ที่เขาริเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเพิ่งจะเปิดเรียนปีการศึกษา 2552 ปีแรกไปหมาดๆ โดยมีนักเรียนห้อง ม.1 จำนวน 31 คน
     นักเรียนเหล่านี้เป็นผลผลิตความภูมิใจจาก 'โรงเรียนนอกกะลา' สาขาแรก หรือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนระดับอนุบาลถึงป.6 ที่เขาเริ่มบุกเบิกและเปิดสอนไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2546 ถึงตอนนี้ นักเรียนรุ่นแรกพร้อมแล้วสำหรับการศึกษาต่อในระดับมัธยม
     “เดี๋ยวขึ้นชั้น ม.2 เด็กๆ จะย้ายมาเรียนที่พัทยา มาเปิดหูเปิดตาพบสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ มาอยู่ใกล้ทะเล ไปแล่นเรือใบ” เสียงครูใหญ่คุยให้ฟังถึงอนาคตที่ดูน่าสนุกและตื่นเต้นไม่น้อยในปีหน้า เมื่อเขาวางแผนจะพาเด็กๆ ในชนบทอีสาน มาสัมผัสบรรยากาศการเรียนการสอนในอีกรูปแบบ โดยย้ายมาใช้ชีวิตในโรงเรียนกินนอนที่พัทยาตลอดหนึ่งปีการศึกษาในช่วงชั้น ม.2 จากนั้นจะย้ายกลับไปเรียนต่อจนจบชั้น ม.6 ที่บุรีรัมย์ตามเดิม
     นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างแนวคิดนอกกรอบที่กำลังเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนต้นแบบที่มุ่งหวังจะปฏิวัติการเรียนการสอนที่เคยมีมาในระบบการศึกษาไทย


บนปรัชญา 'การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์' ซึ่งหมายถึงการเรียนการสอนที่พัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งร่างกาย ความคิด อารมณ์และจิตวิญญาณ ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข


     ในโรงเรียนมัธยมที่อาคารเรียนทั้งหมดสร้างจากไม้ไผ่ ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างจากมูลนิธิไม้ไผ่ ประเทศอินโดนีเซีย เน้นความเป็นธรรมชาติ สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มีชัย เล่าว่า โรงเรียนที่นี่เป็นมากกว่าห้องเรียน แต่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาที่ขยายไปสู่ครอบครัวและชุมชนที่อยู่รอบตัวเด็กๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การทำเกษตรรูปแบบใหม่ๆ การสอนเรื่องธุรกิจในหลักสูตร Bare foot MBA หรือเอ็มบีเอเท้าเปล่า รวมไปถึงการสร้าง Design School ที่จะยกระดับความคิดสร้างสรรค์ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 
      นับเป็นการก้าวต่ออีกขั้นจากการจัดการเรียนการสอนที่เคยทำที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนนอกกะลาที่ไม่มีการสอบ ไม่มีเสียงระฆัง ไม่ต้องใช้แบบเรียน ไม่มีดาวให้นักเรียน ไม่ได้จัดลำดับความสามารถผู้เรียน เป็นโรงเรียนที่ครูสอนด้วยเสียงที่เบาที่สุด โรงเรียนที่พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก โรงเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข
     “ที่ลำปลายมาศพัฒนา เราสร้างห้องเรียนแบบหกเหลี่ยม ให้เด็กๆ นั่งล้อมวงเรียนในห้อง ไม่มีเด็กหน้าห้องหลังห้อง ทุกๆ เช้าเด็กและครูต้องกอดกัน มีการทำกิจกรรมพัฒนาคลื่นสมอง สร้างความผ่อนคลายและอารมณ์ที่ดีกับเด็กก่อนเข้าเรียน 
นอกจากนี้นักเรียนยังมีส่วนในการเลือกเรื่องที่จะเรียน และวางแผนจัดการการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่เครื่องแบบชุดนักเรียนที่เห็นเด็กๆ ใส่ก็มาจากความคิดของพวกเขาออกแบบกันเอง” 




สร้าง 'ผู้นำ' ไม่ใช่ผู้ตาม


     มีชัยเล่าย้อนถึงแนวคิดจุดประกายให้ลุกมาตั้งโรงเรียนว่า จากเดิมที่มูลนิธิเคยใช้วิธีการให้ทุนการศึกษา 2,400 ทุนต่อปี เพื่อช่วยเหลือให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่ด้วยกรอบความคิดและวิธีเดิมๆ ของการเรียนการสอน ผลผลิตทางการศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงผู้ตามของเมื่อวานมากกว่าสร้างผู้นำในอนาคต
     “เลยเกิดความคิดว่าเราจะสามารถจัดระบบการศึกษาใหม่ พัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้ไหมเพื่อจะสร้างผู้นำของอนาคต สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม น่าจะยั่งยืนกว่าการให้ทุนการศึกษา หรือการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์”
  โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ จึงเริ่มต้นขึ้นแห่งแรกในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา ภายใต้การบริหารของครูวิเชียร ไชยบัง
      ด้วยการจับฉลากเข้าเรียน เด็กๆ จากท้องไร่ท้องนาก็มีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี และดีเทียบเท่าโรงเรียนนานาชาติ แต่มีข้อพิจารณาที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองต้องสามารถรับส่งได้ทุกวัน และพร้อมที่จะร่วมมือทำกิจกรรมกับทางโรงเรียน
     “เด็กๆ ที่นี่เรียนฟรี โดยใช้งบประมาณต่อหัวปีละ 3 หมื่นบาทนิดๆ แต่ผมเชื่อว่า เมื่อจบออกไปเติบโตขึ้นในวันข้างหน้า พวกเขาจะเป็นพลเมืองที่ดีและกลับมาตอบแทนคืนให้กับสังคม”
      จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของครูใหญ่ที่ชื่อมีชัย คือ อยากบ่มเพาะสร้างคนให้เป็นครู ด้วยการจัดการศึกษาแบบนี้ผ่านหลักสูตรตลอด 14 ปีที่วางพื้นฐานตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6  เด็กๆ จากที่นี่น่าจะสามารถเป็นครูที่ดีได้
     “ตอนนี้ เด็กบางคนก็เริ่มฉายแววแล้ว ด้วยการใช้เวลาว่างไปช่วยเป็นติวเตอร์สอนเด็กๆ คนอื่นในหมู่บ้าน”
     6 ปีของการปฏิวัติการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กลายเป็นโรงเรียนในชนบทห่างไกลที่ได้มาตรฐานระดับโลก จากการประเมินของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทัสมาเนีย ออสเตรเลีย เมื่อปี 2549 และในปี 2550 จากผลการประเมินของสำนักงานประเมินและรับรองมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) ยังผ่านการประเมินในระดับที่ดีมาก 13 มาตรฐาน และระดับดี 1 มาตรฐาน 
      น่าจะพอพิสูจน์อะไรบางอย่างและเพิ่มความมั่นใจที่จะก้าวต่อ โดยเชื่อว่าโมเดลการศึกษารูปแบบใหม่นี้ น่าจะเป็นความหวังที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลงดีๆในสังคม
     “ไม่มีประเทศใดในโลกที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์ ต้องมีคนอื่นเข้ามาช่วย ภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมีกำลังและความพร้อม ควรมองว่าน่าจะต้องแบ่งปันความช่วยเหลือตอบแทนสังคม สิ่งที่ภาครัฐต้องช่วยสนับสนุน คือ การลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจที่บริจาคเงินสร้างโรงเรียน ซึ่งตอนนี้ถ้าเป็นการบริจาคในรูปแบบนี้ยังไม่ได้รับการยกเว้น”
      ปัจจุบันโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้การสนับสนุนโดยมูลนิธิเจมส์คลาร์ค ประเทศอังกฤษ ส่วนโรงเรียนมัธยมลำปลายมาศที่ขยายใหม่ส่วนหนึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเกตส์
     และอีกส่วนหนึ่งมาเงินอุดหนุนจากสปอนเซอร์รุ่นจิ๋ววัย 4 ขวบ คือ ม้าเมฆและม้าหมอกหลานฝาแฝดชายหญิงตัวน้อยของตระกูลวีระไวทยะที่จัดสรรเงินมรดกมาร่วมก่อตั้งโรงเรียน เพราะอยากปลูกฝังให้หลานรู้จักการให้ และเรื่องจิตสาธารณะตั้งแต่เล็กๆ
     นอกจากเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า โรงเรียนยังมีแหล่งรายได้อีกทางมาจากโมเดลการทำธุรกิจในกรุงเทพฯ เพื่อนำกำไรมาสนับสนุนกิจการการศึกษาฟรีให้กับเด็กๆ ผ่านธุรกิจร้านอาหารบนตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ โดยมีบริษัทเคพีเอ็มจีช่วยสนับสนุนค่าเช่า
     รายได้เลี้ยงตัวเองอีกทางยังมาจากการเปิดคอร์สอบรมหลักสูตรครู ให้กับหน่วยงานและเครือข่ายโรงเรียนที่สนใจนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ไปใช้ โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารโรงเรียน และครู เข้ามาดูงานและฝึกอบรมที่นี่แล้วกว่า 200 โรงเรียน
     เป็นความหวังของคุณครูใหญ่คนนี้ว่า อยากจะขยายโมเดลโรงเรียนนอกกะลาแห่งนี้ ออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อหยิบยื่นโอกาสไปสู่เด็กพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างพลังมากผลักดันสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 
     'มีชัย วีระไวทยะ' ตัดสินใจวางมือจากนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ในวันที่สมาคมซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งมีอายุครบรอบ 35 ปีพอดีในวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหันมาทุ่มสุดตัวกับงานปฏิวัติการศึกษา
     35 ปีที่ผ่านมาของ PDA  จุดประกายให้เกิดโครงการต่างๆ กระจายเครือข่ายทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่กว่า 25,000 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2,500 หมู่บ้าน คิดเป็นเม็ดเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 3,700 ล้านบาท
     นับเป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ (NGO) ที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากเงินทุนตั้งต้นก้อนแรกเพียง 2,000 เหรียญสหรัฐ ด้วยจำนวนทีมงานไม่กี่สิบชีวิตในปี 2517


อ้างอิง : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/hi-life/20090527/45411/%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B0-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87-%E0%B8%A3.%E0%B8%A3.%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2.html

กิจกรรมเกี่ยวข้าว นวัตกรรมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์

“รี้ด เทรดเด็กซ์ ผนึกสมาคมสื่อการเรียนการสอนประเทศอังกฤษ โชว์นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนระดับโลก ร่วมดันมาตรฐานการศึกษาไทย ใน Worlddidac Asia 2007”

        นายชัยณรงค์ ลิมป์กิตติสินรองกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการทั่วไป บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่ภาครัฐเน้นความสำคัญ เพื่อช่วยขับดันทิศทางการศึกษาไทยปี 2550 และเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ของประเทศในการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นบริษัทฯ ร่วมกับสมาคมเวิลด์ไดแด็ค กำหนดจัดงานเวิลด์ไดแด็คเอเชีย 2007 ขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เพื่อเป็นเวทีในระดับภูมิภาคและนับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไทยและภูมิภาค ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับบุคลากรในแวดวงการศึกษาไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันศึกษา ผู้ซื้อ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจากทั่วทวีปเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ สร้างเครือข่ายและร่วมพัฒนาศักยภาพของวงการอุกรณ์สื่อการเรียนการสอน
“รี้ด เทรดเด็กซ์ ผนึกสมาคมสื่อการเรียนการสอนประเทศอังกฤษ โชว์นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนระดับโลก ร่วมดันมาตรฐานการศึกษาไทย
          ไฮไลท์สำคัญภายในงานประกอบด้วยการแสดงนวัตกรรมจากนานาประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ร่วมแสดงสินค้ากว่า 120 บริษัทจาก 22 ประเทศทั่วโลก อาทิ พาวิลเลียนจากประเทศอังกฤษ เยอรมันนี จีน เกาหลี และบริษัทชั้นนำจากนานาประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง อินเดีย อิสราเอล อิตาลี ไต้หวัน สหรัฐ อเมริกา และไทย เป็นต้น โดยคาดการณ์ผู้เข้าชมงานและร่วมประชุมสัมมนาระดับนานาชาติกว่า 12,000 คน  โดย บ.ไดแด็คตา อิตาเลีย จากประเทศอิตาลี เตรียมนำเครื่อง Hysyone ซึ่งเป็นเครื่องสำหรับศึกษาการทำงานหน่วยของเชื้อเพลิง บ.ฟูริเออร์ซิสเต็ม จากประเทศอิสราเอล เตรียมนำเครื่อง  Nova5000 เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กราคาย่อมเยาพร้อมโปรแกรมสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียน บ.เอ็มแท็บเอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศอินเดีย นำเครื่อง CNC Trainer Milling เครื่องจักรสำหรับใช้ในการสอนในสาขาวิศวะเครื่องกลทั้งในสถาบันการศึกษาและศูนย์อบรม มาจัดแสดง เป็นต้น
          นอกจากนั้นภายในงานยังจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรในแวดวงการศึกษา โดยสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ร่วมกับเครือมติชนจัด “การประชุมผู้นำด้านการศึกษาระดับชาติครั้งที่ 2” (The 2nd National Education Leaders Forum) กิจกรรมพิเศษในงานเพื่อร่วมผลักดันความร่วมมือสำหรับวงการการศึกษาทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคให้เป็นรูปธรรม ภายใต้ Theme การพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในวงการการศึกษาจากนานาประเทศ อาทิ ประเทศไทย-เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิงคโปร์-มหาวิทยาลัยนันยาง ออสเตรเลีย-กระทรวงการศึกษา  วิทยาศาสตร์ และการฝึกอบรม อังกฤษ-มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ เยอรมนี- สมาคมไดแด็คตา และ สหรัฐอเมริกา-มหาวิทยาลัย MIT เป็นต้น
          สำหรับกิจกรรมที่จะช่วยต่อยอดทางธุรกิจที่สำคัญภายในงาน คือ Business Matchmaking Program เป็นเวทีการค้ากลางเปิดโอกาสสำหรับนักธุรกิจและผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาเพื่อสร้างพันธมิตรและขยายช่องทางทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ยังมีส่วนการแสดงที่นำเสนอผลงานวิจัยของหน่วยงานด้านการศึกษาในภูมิภาค เช่น  ผลงานนวัตกรรมจาก อาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
          ในด้านความร่วมมือจากองค์กรระดับชาติ นายโดมินิค ซาเวจ ประธานสมาคมผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอนประเทศอังกฤษ (British Educational Suppliers Association-BESA) และประธานสมาคมเวิลด์ไดแด็ค (Worlddidac) ในฐานะผู้ร่วมจัดงานในครั้งนี้กล่าวว่า ในปัจจุบันแนวโน้มทั่วโลกต่อความสำคัญของการศึกษาได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในทุกระดับที่ครอบคลุมทุกหลักสูตรการเรียนการสอน และการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะด้านอาชีพที่ตอบรับและช่วยขับดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 นี้ตัวอย่างของเทคโนโยลีที่แพร่หลายในวงการสื่อการเรียนการสอนแถบยุโรป ได้แก่ Data Logging ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อประมวลผลในรูปแบบกราฟหรือชาร์ทได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ลดขั้นตอนการจดบันทึกข้อมูลและช่วยให้นักเรียนสามารถให้ความสนใจกับกระบวนการทดลองและผลที่เกิดขึ้นได้มากกว่าเดิม
          นอกจากนั้น เนื่องจากความสัมพันธ์และบทบาทของครูกับนักเรียนได้เปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนจากการที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนโดยตรง เป็นการช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนผ่านทางสื่อการเรียนการสอน พร้อมทั้งกระตุ้นให้นักเรียนค้นพบความถนัดของตนเอง และพัฒนาทักษะด้านนั้นๆ ดังนั้นในวงการการศึกษาจึงต้องการอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนที่จะช่วยสนับสนุนแนวโน้มนี้จะมีความซับซ้อนและหลากหลายขึ้นเช่นกัน
          สมาคมเวิล์ดไดแด็คตระหนักถึงตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษา ได้แก่ บุคลากรทางการศึกษา และทรัพยากรที่ใช้ในการศึกษา ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพและบริการของผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนอย่างบูรณาการ ครอบคลุมมาตรฐานของสินค้า การจัดระบบฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ และบริการหลังการขายที่มีคุณภาพ
          “ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน แนวโน้มที่ดีของตลาดอุปกรณ์การศึกษาในภูมิภาค และนโยบายภาครัฐที่เน้นความสำคัญต่อของศึกษาต่อการพัฒนาประเทศ ตนเชื่อว่างานเวิลด์ไดแด็คเอเชีย 2007 จะเป็นเวทีกลางที่จะช่วยพัฒนาวงการการศึกษาด้วยการสนับสนุนด้านระเบียบปฏิบัติ คุณภาพ และความเท่าเทียมด้านการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างและต่อยอดความร่วมมือระดับประเทศและภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์” นายโดนิมิค กล่าว
          รี้ด เทรดเด็กซ์ เป็นผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นสมาชิกของกลุ่ม รี้ด เอ็กซ์ซิบิชั่น ที่มีสำนักงานอยู่ใน 26ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีการจัดงานแสดงสินค้าปีละ 450งานครอบคลุม49อุตสาหกรรม ใน32ประเทศ รี้ด เทรดเด็กซ์วางแผนการจัดงานระดับชาติปีละ10งาน  ในปี2549เติบโตประมาณ 20% ตั้งเป้าเติบโตในปี 2550ประมาณ 15-20%
          ข้อมูลเพิ่มเติม
          สมาคมผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอนประเทศอังกฤษ เป็นสมาคมทางการค้าที่มีสมาชิกกว่า 260 บริษัททั่วประเทศอังกฤษ ครอบคลุมผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุ อุปกรณ์ หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ในตลาดการศึกษา มีบทบาทในการมุ่งเน้นการสนับสนุนและร่วมกันพัฒนาคุณภาพและยกระดับสื่อการเรียนการสอน (
www.besanet.org.uk)
          สมาคมเวิลด์ไดแด็ค เป็นสมาคมการค้าระดับโลกซึ่งมีสมาชิกกว่า 140 บริษัททั่วโลกที่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับวงการการศึกษาและศูนย์ฝึกอบรมในทุกระดับการเรียนรู้ โดยมีภารกิจเพื่อส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจของสมาชิกพร้อมทั้งเพิ่มคุณค่าของอุตสาหกรรมสื่อการเรียนการสอนต่อวงการการศึกษา (
www.worlddidac.org)
          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
          นวพร โรจน์อารยานนท์
          ประชาสัมพันธ์ บ.รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด
          โทร 02-6867252 อีเมลล์
nawaporn@reedtradex.co.th

สื่อการสอน X-cite kidz โตไปไม่โกง




          ปัญหาแตกแยกทางความคิดและความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยก่อนหน้านี้ รวมไปจนถึงปัยหาของชาติบ้านเมืองที่ดูจะก้าวหน้าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ล้วนแล้วแต่มีจุดเริ่มต้นมากจากการโกงกิน คอรัปชั่นชาติบ้านเมืองแทบทั้งสิ้น ซึ่งปัญหาทุจริตคอรัปชั่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาวนานจนคนไทยเกิดความรู้สึกชาชิน มองว่าเป็นแค่เรื่องธรรมดาตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น เด็กลอกการบ้าน ลอกข้อสอบ ไปจนถึงปัญหาของผู้ใหญ่รับสินบน รับเงินใต้โต๊ะ หรือการคอรัปชั่นโครงการใหญ่ๆ ของนักการเมือง

          แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองจนทำให้ชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ทำให้หลายคนเริ่มหวนคิดถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาโกงกิน คอรัปชั่น ว่าเป็นสิ่งที่หมักหมมในสังคมไทยมายาวนานเกินไปแล้ว และปัญหานี้ได้เป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม และเป็นชนวนของการแบ่งแยกทางความคิดและกลุ่มก้อนทางสังคม จนกระทั่งถึงความเกลียดชัง แตกแยกอันรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย

          ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาทำให้เกิดหลักสูตรการเรียนที่จะไปลบล้างพฤติกรรมการโกงกินคอรัปชั่นที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต แต่การจะทำเช่นนี้ได้นั้นจะต้องมีการปลูกฝังแนวความคิดนี้ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อที่ว่าต่อไปเขาเหล่านั้นจะได้ “โตไปไม่โกง”

          หลักสูตร “โตไปไม่โกง” ได้มีการจัดงาน “โตไปไม่โกง Day Camp” หรืองานรวมพลัง “White Thump” ครั้งที่ 1 ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 ก.ย.53 เพื่อสื่อสารไปยังโรงเรียน ผู้ปกครอง และสังคม ให้ได้รับทราบเกี่ยวกับหลักสูตรโตไปไม่โกง โดยในงานนี้เองก็ได้มีเด็กนักเรียนมาเข้าร่วมมากถึง 250 คน ภายในงานก็ได้มีการทำกิจกรรมต่างๆ ในการออกสตาร์ทปลูกฝังทัศนคติและคุณธรรมที่ดีให้แก่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมเปิดคลิปวิดีโอซ่อนกล้องแอบถ่ายน้องๆ ทำความดี เช่น เก็บขยะ จูงคนแก่ข้ามถนน จากทางโรงเรียนต่างๆ กิจกรรมแสดงละครเรื่อง “เทพารักษ์”และคนตัดฟืน” กิจกรรมเกมเลือกป้ายคุณธรรมที่ถูกต้อง กิจกรรมรวมพลังร้องและเต้นเพลง “โตไปไม่โกง” ที่มีเนื้อหาของการมี 5 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ รวมทั้งการออกเดินขบวนรณรงค์ที่สยาม


          “การมีหลักสูตรนี้เกิดขึ้น แม้จะยังไม่มีตัวชี้วัดว่าจะลดปัญหาการคอรัปชั่นได้จริงในอนาคตอย่างทันที แต่การปลูกฝังให้เด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง”

          น้องดวงดี แซ่ลี้ หรือหนิง นักเรียนชั้น ป.3 และเพื่อนๆจาก รร.วัดปทุมวนารามบอกว่า การที่เขาและเพื่อนๆจากโรงเรียนได้มาร่วมงาน “White Thump” ในวันนี้ พวกพี่ๆ ได้สอนให้ร้องเพลง เล่นเกม และความรู้ ถึงการไม่โกง ความซื่อสัตย์ อย่างการช่วยเหลือคนตาบอดข้ามถนน เพราะเขาไม่มีดวงตา หรือการนำกระเป๋าเงินที่เก็บได้ไปคืนเจ้าของ เพราะว่าถ้าเราไม่โกงแล้วเราก็จะรู้สึกสบายใจและจะรู้สึกดี แม้จะเป็นเพียงแค่ในโลกใบเล็กๆ อย่างที่โรงเรียน แต่น้องหนิงและเพื่อนๆก้ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยเห็นพฤติกรรมการคดโกงด้วยสายตาของพวกเขาเองด้วย เช่น การเห็นเพื่อนๆ ลอกข้อสอบและลอกการบ้านกัน และการที่มีเพื่อนๆ มายืมเงินหรือยืมดินสอ บางลบไปแล้วไม่ยอมใช้คืน

          “หนูอยากจะบอกพวกคนที่มีนิสัยขี้โกงให้เลิกนิสัยแบบนี้ซะ การที่เรามีน้อยก็จงใช้น้อยแบบพอเพียง เพราะครูเองก็ได้สอนว่า แม้เราจะใช้ชีวิตแบบพอเพียง แต่เราก็จะสามารถมีเงินเยอะได้ อย่างถ้าเราเก็บเงินวันละ 1 บาท 100 วัน เราก็จะมีเงินแล้ว 100 บาท” น้องหนิงกล่าว


‘กล่องมหัศจรรย์’ สอนอย่างไรให้เด็กโตไปไม่โกง

          หลักสูตรโตไปไม่โกงที่จะมีการให้ครูบรรจุเข้าไปในตารางสอน 1 คาบเรียนต่อ 1 สัปดาห์นี้ จะถูกนำไปใช้ในภาคเรียนที่ 2 ของทั้ง 280 โรงเรียนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ตอบรับการเป็นโรงเรียนนำร่อง ซึ่งในแต่ละห้องเรียนของทุกชั้นเรียนตั้งแต่  อ.1-ป.3 ของโรงเรียนซึ่งเข้าร่วมใช้หลักสูตรจะได้รับสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูและนักเรียน ที่เรียกว่า “กล่องมหัศจรรย์” โดยภายในกล่องจะประกอบด้วย

          1. คู่มือหลักสูตร ภายในจะมีการอธิบายเทคนิคของการถ่ายทอดความรู้ อย่างเทคนิคการเล่านิทาน บทเพลงและท่าเต้นในเพลง “โตไปไม่โกง” และการออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรม

          2. หนังสือนิทาน มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 5 ประการ เช่น ความซื่อสัตย์ ก็จะมีนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ, ความรับผิดชอบ ก็มีเรื่องขุนพลงักฮุย ตำนานปาท่องโก๋กับขุนพลผู้รักชาติ, ความเป็นธรรม ในเรื่องราชสีห์กับหนู, ความมีจิตสาธารณะ ในเรื่อง Hans Brinker ที่มีเด็กชายเอานิ้วอุดเขื่อนเพื่อไม่ให้น้ำท่วมหมู่บ้าน และในเรื่องของความพอเพียง ก็จะมีนิทานอีสปเรื่องอึ่งอ่างกับวัว

          3.อุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้ ประกอบด้วย ซีดีเพลง หุ่นละครมือแผนภาพต่างๆ บทละคร

          ทั้งนี้ กล่องมหัศจรรย์ของทั้งระดับชั้น อ.1-ป.3 จะมีความแตกต่างกันไปตามระดับชั้นและความซับซ้อนของเนื้อหาที่เอื้อต่อการเรียนรู้

อ้างอิง : http://growinggood.org/2010/09/2155/
            http://www.ryt9.com/s/tpd/992111

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นวัตกรรมสื่อการสอน

เรื่อง Prepositions

ชื่อสื่อ I’m a box.


จัดทำโดย
นายทวี   เนื่องอาชา  โรงเรียนพิมลวิทย์  เขตบางพลัด  กรุงเทพมหานคร
วิธีการใช้
            1. สอนคำศัพท์ in, on under,behind,next to    
            2. อธิบายความหมายของคำศัพท์     
            3. ให้นักเรียนดูคำศัพท์ที่ติดกับสื่อ ออกเสียงและบอกความหมายให้นักเรียนฟัง
            4. สอนประโยค Where is the ..... ? และบอกความหมายของประโยคที่จะนำไปถาม
            5. ประโยคคำถามจากข้อ 4 ให้ตอบด้วย in / on / under / behind / next to the ............


ตัวอย่างใช้สื่อประกอบการสอน
            - ครูวางดินสอไว้บนกล่องแล้วถามนักเรียนว่า Where is the pencil ?

            - ดินสออยู่บนกล่องให้ตอบว่า  The pencil is on the box.

            - ดินสออยู่ในกล่องให้ตอบว่า  The pencil is in the box.

            - ดินสออยู่ใต้กล่องให้ตอบว่า  The pencil is under the box.

            - ดินสออยู่ข้างหลังกล่องให้ตอบว่า  The pencil is behind the box.

            - ดินสออยู่ด้านข้างกล่องให้ตอบว่า  The pencil is next to the box.

ประเมินการใช้สื่อนวัตกรรมการสอน
           จากการนำสื่อการสอนชุด I’m a box. มาใช้สอนนักเรียนเกี่ยวกับเรื่อง Prepositions (in, on, under, behind, next to) ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน มีความสนใจในสื่อการเรียน เพราะสื่อที่ใช้มีความสอดคล้องกับเรื่องและเนื้อหาที่กำลังเรียน มองเห็นภาพความรู้ มุมมองได้อย่างชัดเจน ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจง่ายขึ้น สามารถอ่านออกเสียง บอกความหมายของคำศัพท์ได้ เข้าใจประโยคการถาม/ตอบ บอกตำแหน่งสิ่งต่างๆที่ถามได้ง่ายขึ้น


แผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบสื่อการสอน

เรื่อง Prepositions


กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
หน่วย My school
รูปแบบ / กิจกรรมการเรียนรู้

กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ Group Process
ตอน / เรื่อง Classroom : in /on /under / behind / next to
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
เวลาเรียน      2        ชั่วโมง


1. สาระสำคัญ                    
              การบอกตำแหน่งต่าง ๆ ของอุปกรณ์


2. ผลการเรียนที่คาดหวัง  
             ใช้ภาษาง่าย ๆ เพื่อขอและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งต่างๆ รอบตัว


3. จุดประสงค์การเรียนรู้   

           1. สามารถถามโดยใช้ Where is the ……….? ได้

           2. สามารถบอกตำแหน่งสิ่งของได้

           3. สามารถนำ in , on , under , behind , next to  มาบอกตำแหน่งต่างๆได้


4. เนื้อหา / สาระการเรียนรู้

       เนื้อหาหลัก

                Presentation  : การบอกตำแหน่ง

                Vocabulary    : where , in , on , under , behind , next to

                Grammars     : Where is the ………………...? ( คำนาม )

                                      : in  / on / under / behind / next to the … ( คำนาม )


5. กิจกรรม / กระบวนการเรียนรู้

   Presentation

           - เกม Sit down / Stand up / Point to the ………………

           - สอนคำศัพท์ใหม่ in / on / under / behind / next to / where

           - ชูบัตรคำขึ้น แล้วถามว่า What’s this ? และถามถึงความหมายของคำศัพท์

           - ชูบัตรคำขึ้นทีละแผ่นออกเสียงให้นักเรียนอ่านตาม

           - อธิบายความหมายของคำศัพท์ที่ชูขึ้น

           - สอนประโยค Where is the …………..? ให้นักเรียนอ่านตาม

           - บอกความหมายของประโยค โดยเติมคำนามที่จะหาตำแหน่งสิ่งของ   
             นั้นๆ   เช่น     Where   is   the   book?

           - ประโยคคำตอบบอกตำแหน่งโดยใช้

             in / on / under / behind / next to the ……………

           - ทุกคนอ่านออกเสียงตามครู

           - ครูวางปากกาบนกล่องแล้วถามนักเรียนว่า Where  is  the  pen?

           - อยู่บนกล่อง ใช้  on  the  box.

           - อยู่ในกล่อง ใช้   in  the  box.

           - อยู่ใต้กล่อง  ใช้   under  the  box.

           - อยู่ด้านหลังใช้  behind  the box.

           - อยู่ถัดไป ( อาจจะเป็นด้านซ้ายหรือขวา )ใช้  next to the box.


  Practice

           - ให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม

           - แสดงภาพประกอบ และถามแต่ละกลุ่มว่า Where is the …..?

                        ( เติมคำนามของที่มองเห็นตามภาพ )

Production

          - ทำ Worksheet

          - ช่วยกันสรุปเนื้อหาการใช้ in / on / under /behind / next to


6. กิจกรรมต่อเนื่อง
            การบอกตำแหน่งสามารถเชื่อมโยงกับทุกเนื้อหาที่บ่งบอกถึง Prepositions (คำบุพบท)


7. กระบวนการวัด และประเมินผล

            1. การสังเกต

                        - ความสนใจในการเรียน

                        - การตอบคำถาม

                        - การมีส่วนร่วมในกิจกรรม

            2. การทำ Worksheet


8. สื่อ / แหล่งการเรียนรู้

            1. บัตรภาพ

            2. บัตรคำ และแถบประโยค

            3. ของจริง เช่น table , desk , box


9. เอกสารประกอบแผนการจัดการเรียนรู้

- Grammar Skill : 1

            - Step Out : 1

            - Get Set Go ! : 2

            - A to Z : 1-2

            - Worksheet


10. บันทึกหลังการสอนแผนการจัดการเรียนรู้

             สรุปผลการเรียนรู้

                   จากการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนสามารถถาม/ตอบการใช้ประโยค Where is the pen ? The pen is  in/on/under/behind/next to the box. ได้ บอกตำแหน่งสิ่งต่างๆ ที่รอบตัวเองได้ อ่านออกเสียงและรู้ความหมายของคำศัพท์ใน Prepositions  และนักเรียนสามารถทำแบบฝึกหัดใน Worksheet ได้ถูกต้อง


            ปัญหา

                        -

            แนวทางแก้ไข

                        -

             ข้อเสนอแนะ

                        แผนการจัดการเรียนรู้นี้ และสื่อการสอนที่นำมาประกอบ ถ้าเพิ่มเนื้อหาแต่ละระดับชั้นตามความยากง่าย สามารถนำไปจัดการเรียนการสอนได้

 

 

อ้างอิง : http://www.oknation.net/blog/t-vee/2009/06/17/entry-1

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม

นวัตกรรม ลาหู่ แบรนด์ โรงเรียนดอยเวียงผา บ้านปางปู่สิงห์  


   
      โรงเรียนดอยเวียงผา บ้านปางปู่สิงห์   ได้สร้างหลักสูตรท้องถิ่น วิถีชีวิตชนเผ่าลาหู่……สู่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้กำหนดผลการเรียนที่คาดหวัง ด้านการแต่งกายของชนเผ่าลาหู่ให้สามารถเขียนรายงานการแต่งกายของชนเผ่าตนเองสามารถประดิษฐ์หรือตัดเย็บเครื่องแต่งกายของชนเผ่าของตนเองได้ โรงเรียนดอยเวียงผา บ้านปางปู่สิงห์ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมลาหู่ เพื่อจัดการศึกษาให้สนองต่อการใช้หลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ.  2544    และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2544

วัตถุประสงค์
       เพื่อสร้างนวัตกรรม ลาหู่ แบรนด์
       เพื่อศึกษาการใช้นวัตกรรม ลาหู่ แบรนด์


กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์       
       นักเรียนโรงเรียนดอยเวียงผา บ้านปางปู่สิงห์ จำนวน 604 คน
       ชาวบ้านแม่ปูนล่าง หมู่ที่ 9 ต. เวียง อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย


วิธีการดำเนินการ/ ขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรม

   ประชากร
       ประชากรที่ใช้ในการศึกษาการใช้นวัตกรรมครั้งนี้ คือ นักเรียนโรงเรียนดอยเวียงผา บ้านปางปู่สิงห์ ปีการศึกษา 2549 จำนวน 604 คน


ขั้นตอนการดำเนินการ     
       การสร้างนวัตกรรม ลาหู่ แบรนด์ ซึ่งประกอบไปด้วย

    แผนการสอน
               ป1. ลากเส้นตามรอยประ ระบายสี
               ป2. ลากเส้นวาดลายตามแบบ
               ป3. วาดลวดลายตามลาหู่ตามจินตนาการ
               ป4. เย็บลวดลายตามแบบด้วยการเย็บมือ
               ป5. การต่อลวดลายเป็นชิ้นงาน
               ป6. การนำลวดลายมาตกแต่งเสื้อผ้า
               ม1-ม3. การนำลวดลายมาตกแต่งเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน 


      เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
               1. แบบสอบถามการใช้นวัตกรรม ฉบับผู้บริหาร
               2. แบบสอบถามการใช้นวัตกรรม ฉบับครูผู้สอน
               3. แบบสอบถามการใช้นวัตกรรม ฉบับนักเรียน


      การดำเนินเก็บรวบรวมข้อมูล
               
ดำเนินการโดยครูประจำชั้น และคณะอนุกรรมการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม

โรงเรียนดอยเวียงผา บ้านปางปู่สิงห์ 

      การวิเคราะห์ข้อมูล
               ใช้วิธีการพรรณาวิเคราะห์


ลักษณะเด่น / องค์ความรู้ที่ได้จากการพัฒนานวัตกรรม      
      ในการพัฒนานวัตกรรมครั้งนี้เกิดการพัฒนานวัตกรรมดังนี้
          ได้แผนการสอนจำนวน 7 แผนการสอนดังนี้
               ป1. ลากเส้นตามรอยประ ระบายสี
               ป2. ลากเส้นวาดลายตามแบบ
               ป3. วาดลวดลายตามลาหู่ตามจินตนาการ
               ป4. เย็บลวดลายตามแบบด้วยการเย็บมือ
               ป5. การต่อลวดลายเป็นชิ้นงาน
               ป6. การนำลวดลายมาตกแต่งเสื้อผ้า
               ม1-ม3. การนำลวดลายมาตกแต่งของใช้ในชีวิตประจำวัน


ผลที่เกิดขึ้น / ที่ปรากฏจากการใช้นวัตกรรม       
       ในการพัฒนานวัตกรรมครั้งนี้เกิดผลการพัฒนานวัตกรรมดังนี้
           ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับลวดลายผ้าของชนเผ่าลาหู่ซึ่งประกอบไปด้วยจำนวน 2 แบบ คือ
               1.1 ลายแบบสามเหลี่ยม
               1.2 ลายแบบสลับฟันปลา
            ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานตลอดจนประยุกต์ไปใช้ตกแต่งผลิตภัณฑ์จนสามารถนำไปเผยแพร่มีรายได้ระหว่างเรียน
      และสามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้ผู้บริหารสถานศึกษามีความเห็นว่าการพัฒนานวัตกรรมในครั้งนี้สามารถพัฒนาผู้เรียนบรรลุตาม
      มาตรฐานที่ได้ตั้งไว้ในหลักสูตรครูผู้สอนมีความเห็นว่าการพัฒนานวัตกรรมในครั้งนี้สามารถพัฒนาผู้เรียนบรรลุตามมาตรฐานที่ได้ตั้งไว้
      ในหลักสูตรนักเรียนมีความพอใจที่ได้เรียนตามนวัตกรรมที่สร้างขึ้นในระดับร้อยละ 70


ประโยชน์ / คุณค่าของนวัตกรรม และการพัฒนาต่อยอด               
               1.1 ในการพัฒนานวัตกรรมครั้งนี้เกิดประโยชน์ดังนี้
               1.2 เป็นนการอนุรักษ์ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน
               1.3 เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบสานต่อกันมาเป็นทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ
               1.4 หลังการพัฒนานวัตกรรมครั้งนี้ควรพัฒนาต่อยอดดังนี้
               1.5 พัฒนาลายผ้าของชนเผ่าอื่น ๆ
               1.6 ปรับปรุงชิ้นงานให้ได้มาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นวัตกรรมเครื่องสำอางนาโน

นาโน คือ รูปแบบของสิ่งที่มีขนาดเล็กมากในทางฟิสิกส์ นาโนเป็นหน่วยวัดที่มีขนาดความเล็กถึง 10-9 นาโนเทคโนโลยี จึงเป็นกระบวนการย่อขนาดโมเลกุลของสารต่าง ๆ ให้เล็กลง เพื่อเสริมคุณสมบัติพิเศษ เช่น กันน้ำ ซึมซาบได้ดี ช่วยเพิ่มการสะท้อนรังสี ยับยั้งการเกิดและเติบโตของแบคทีเรีย เป็นต้น

โดยทั่วไปคนมักเข้าใจผิดกันมากว่า เครื่องสำอางนาโน คือ เครื่องสำอางที่ มีนาโนเป็นสารประกอบ เช่นเดียวกับสารชนิดอื่น ๆ เช่น วิตามิน คอลลาเจน แต่จริง ๆ แล้วเครื่องสำอางนาโนเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบนาโน ดังต่อไปนี้

- การย่อขนาด เดิมทีสารบำรุง ในเครื่องสำอาง เช่น โลชั่นหรือครีม จะมีเป็นสารอนุภาคใหญ่กว่าอนุภาคขนาดนาโนประมาณ 1,000 เท่า เปรียบเหมือนลูกมะนาวกับเม็ดทราย ซึ่งโมเลกุลใหญ่จะซึมเข้าสู่ผิวชั้นหนังแท้ไม่ได้ เทคโนโลยีนาโน จึงถูกนำมาใช้ในกระบวนการย่อขนาดสารบำรุงเพื่อให้ซึมซาบเข้าสู่ผิวได้ดียิ่ง ขึ้น

- ตัวขนส่งสาร วิธีการนี้นาโนเปรียบได้กับยานพาหนะที่มีลักษณะเหมือนแคปซูลขนาดมินิ (Encapsulation) นำสารเสริมความงามต่าง ๆ เข้าไปยังเซลล์ผิว โดยผลการทดลองกับโคเอนไซม์คิวเทนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระพบว่าวิธีการนี้ ช่วยลดการสูญสลายของสารขณะซึมลึกเข้าสู่ผิวและลดการระคายเคืองของผิวหนังได้ ดีขึ้น

ผลิตภัณฑ์นาโนมีอะไรบ้าง

1. ครีมกันแดด ชนิด ที่มีส่วนผสมของอนุภาคนาโนกลุ่มโลหะออกไซด์ เช่น ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) และไททาเนียมออกไซด์ (TiO2) เป็นส่วนประกอบ จะสะท้อนรังสี UVA และ UVB ได้ดีกว่าครีมกันแดดประเภทฟิสิคอล (Physical Sun block) และไม่เกิดคราบขาวหลังทา

2. โลชั่นและครีมบำรุงผิว ด้วยเทคโนโลยีนาโนช่วยให้ครีมที่มีส่วนผสมของสารโคเอนไซม์คิวเทนหรือวิตามิน ต่าง ๆ ซึมซาบเข้าบำรุงได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดการสลายตัวของวิตามินเมื่อสัมผัสกับแสงหรือออกซิเจนได้ด้วย

3. สารสกัดสมุนไพรเพื่อผลิตเวชสำอางและผลิตภัณฑ์สปา เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ลบเลือนริ้วรอยจาก ใบบัวบก มะขามป้อม และใบหม่อน เซรั่มช่วยให้ผมดกดำจากน้ำมันรำข้าว ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างนาโนเทคและมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัย ภูเบศร

4. โรลออนและแป้งทาตัวสูตรยับยั้งแบคทีเรีย ใช้นาโนเพื่อเพิ่มคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย โดยจากการทดสอบอาสาสมัคร 30 คน เพื่อดูการระคายเคืองความเป็นพิษต่อผิวหนังและประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อ แบคทีเรีย พบว่ายับยั้งแบคทีเรียได้ 100 เปอร์เซ็นต์และไม่ทำให้แพ้ ปัจจุบันยังไม่มีหลักในการสังเกตว่าเครื่องสำอางชนิดใดผลิตด้วยนาโน เทคโนโลยี การเลือกซื้อจึงทำได้เพียงแค่ดูฉลากที่ระบุว่าเป็น Nanotech Products ควบคู่กับเครื่องหมายรับรองสินค้าจากองค์การอาหารและยา


เครื่องสำอางค์


นาโนปลอดภัยแค่ไหน

การจะพิจารณาว่าเครื่องสำอางนาโนนั้น ๆ มีความปลอดภัยหรือไม่ต้องดูจากสารที่ถูกย่อขนาด หากเป็นสมุนไพรหรือวิตามินที่ร่างกายมีอยู่ตามธรรมชาติก็หมดกังวลเรื่องพิษ หรือการแพ้ได้ระดับหนึ่ง แต่หากเป็นเครื่องสำอางนาโนประเภทที่ผสมสารสังเคราะห์หรือสารเคมี เช่น สีในเมคอัพ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า... "ผู้ ผลิตได้นำนวัตกรรมนาโนมาใช้กับเครื่องสำอาง เพื่อช่วยให้สีเกาะติดผิวได้ดียิ่งขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่เกินความจำเป็น เพราะอนุภาคที่เล็กของสารเคมีอาจซึมลึกเข้าสู่เซลล์ผิวและกระแสเลือดเป็น อันตรายต่ออวัยวะภายในเมื่อสะสมมาก ๆ อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้"

เพื่อความปลอดภัยในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นาโนปัจจุบันศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งโปรแกรมความปลอดภัยของวัสดุนาโน (Nanomaterials Safety Program) ขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยความเป็นพิษของวัสดุนาโนชนิดต่าง ๆ และตั้งมาตรฐานในการควบคุมเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัสดุนาโนเป็นส่วนผสมโดยเบื้องต้นได้เปิดให้หน่วยงาน ต่าง ๆ ส่งตัวอย่างสินค้าเข้าไปทดสอบความปลอดภัยคาดว่าในอนาคตอันใกล้เราจะมี เครื่องสำอางนาโนที่การันตีความปลอดภัยออกมาให้เลือกสรรกันมากขึ้น

อ้างอิง : http://www.n3k.in.th/%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%99