นักวิทยาศาสตร์ไทย ผลิตแว่นนาโนคริสตอล แว่นคุณสมบัติพิเศษ ที่จะช่วยให้นักนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานได้ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะทำให้มองเห็นสารคัดหลั่ง อาทิ คราบเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย อสุจิ ที่คนร้ายทิ้งร่องรอยไว้ ณ จุดเกิดเหตุได้ด้วยแว่นเพียงอันเดียว และได้ทำการมอบแว่นนาโนคริสตอลต้นแบบให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ ยังจะมีการทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำนวัตกรรมนาโนคริสตอล ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ การแพทย์และการเกษตร ต่อไป
นวัตกรรมนาโนคริสตอล เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักวิจัยนาโนเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
ดร. ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้ สวทช. กล่าวว่า“แว่นนาโนคริสตอล เป็นบาย-โปรดักส์สำคัญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำวิจัยฟิล์มบางวัสดุนาโนเพื่อนำไปใช้ในงานนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์โซลาร์เซลส์ ตัวตรวจวัดแสง (Photo Detector)และตัวเปล่งแสง (LED-Light Emitting Diode) เป็นต้น ทั้งนี้ได้ทำการยื่นขอจดสิทธิบัตรไปแล้วทั้งในประเทศไทยและในสหรัฐอเมริกา และยังทำการวิจัยพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดผลในเชิงพาณิชย์สู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม”
รศ.ดร.จิติ หนูแก้ว ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยนาโนเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมนาโนคริสตอล กล่าวว่า นาโนคริสตอล เกิดจากการนำผลึกของอินเดียมออกซิไนไตรด์ (Indium Oxynitride) ซึ่งเป็นสารประกอบออกซิเจน ไนโตรเจนของอินเดียมที่มีขนาดเล็กระดับนาโน เคลือบลงบนเลนส์แก้วหรือพลาสติกโดยใช้วิธีไอระเหย ซึ่งจะส่งผลให้เลนส์นั้นเกิดคุณสมบัติพิเศษคือ ความสามารถในการตัดแสงในช่วงความยาวคลื่นของแสงที่แตกต่างกัน ดังนั้น แว่นนาโนคริสตอล จึงทำหน้าที่เป็นฟิลเตอร์ ซึ่งสามารถตัดแสงสีน้ำเงิน เขียว และแดง รวมทั้งรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต หรือรังสียูวีทั้ง UV-A, UV-B และ UV-C ได้ อีกทั้งยังผลิตได้ง่ายด้วยวัตถุดิบในประเทศทั้งหมด
พันตำรวจโท สมชาย เฉลิมสุขสันต์ หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะคดีข่มขืนหรือคดีฆาตกรรม เจ้าหน้าที่นิติ-วิทยาศาสตร์จะตรวจหาหลักฐานที่เป็นสารคัดหลั่ง หรืออื่นๆ โดยใช้แสงหลายความยาวคลื่นในย่านยูวี-วิซิเบิล ฉายลงในพื้นที่หรือวัตถุต้องสงสัยที่จะเกิดการเรืองแสงกับแสงยูวีในช่วงความยาวคลื่นที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่ต้องใส่แว่นตาพิเศษ ซึ่งมี 3 สี คือ สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ซึ่งแว่นแต่ละสีทำหน้าที่ตัดแสงในย่านความยาวคลื่นแสงที่แตกต่างกัน ทำให้เห็นการเรืองแสงดังกล่าว ดังนั้นในการตรวจสอบแต่ละครั้งอาจต้องเสียเวลาไปกับการเปลี่ยนความยาวคลื่นของแสงที่ฉายลงบนพื้นที่หรือวัตถุ และเปลี่ยนแว่นตาที่ทำหน้าที่ตัดแสงแต่ละสี เพื่อให้เห็นการเรืองแสงหรือเห็นสิ่งที่ต้องการตรวจหาเมื่อมองผ่านแว่นตา
พันตำรวจโท สมชาย กล่าวต่อว่า “แว่นนาโนคริสตอล เป็นนวัตกรรมใหม่ ถือได้ว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง โดยจะช่วยสนับสนุนภารกิจให้กับทีมนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสารคัดหลั่งที่คนร้ายทิ้งไว้ในสถานที่เกิดเหตุ ได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนั้นทั้งคณะผู้คิดค้นและวัตถุดิบที่นำมาผลิต ก็อยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้หน่วยงาน บริษัทต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานราชการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้”
นอกเหนือจากการนำแว่นนาโนคริสตอล มาใช้ในงานตรวจสอบสารคัดหลั่งของเจ้าหน้าที่นิติ-วิทยาศาสตร์แล้ว แว่นนาโนคริสตอล ยังมีศักยภาพที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ เช่น ใช้ทำแว่นสำหรับแพทย์ที่ฉายรังสียูวีเพื่อการรักษาหรือเพื่อเสริมความงาม แพทย์ที่ใช้เลเซอร์ในการผ่าตัด หรือแว่นสำหรับป้องกันแสงและรังสีในการเชื่อมโลหะ และการใช้แว่นป้องกันแสงยูวีในการคัดแยกกุ้งกุลาดำ เป็นต้น
หลังจากการส่งมอบแว่นนาโนคริสตอล เพื่อทดสอบการใช้งานทางนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ทางทีมวิจัยจะได้ส่งมอบแว่นนาโนคริสตอล เพื่อทดสอบภาคสนามในอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ คาดว่า การทดสอบภาคสนามจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2551
อ้างอิง : http://kimojisuru.exteen.com/20091125/entry-1
http://www.se-ed.com/Technology/ViewContent.aspx?IDtopic=586
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น