คนทั่วไปมักจดจำเขาจากบทบาท 'มิสเตอร์คอนดอม' ในฐานะคนแรกที่เคลื่อนไหวรณรงค์วางแผนครอบครัวในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2517 จนยี่ห้อ 'มีชัย' กลายเป็นตำนานคู่การคุมกำเนิดจนถึงทุกวันนี้
นอกเหนือบทบาทนักพัฒนาสังคมต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ถึงตอนนี้โรงเรียนแห่งใหม่ที่เขาริเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเพิ่งจะเปิดเรียนปีการศึกษา 2552 ปีแรกไปหมาดๆ โดยมีนักเรียนห้อง ม.1 จำนวน 31 คน
นักเรียนเหล่านี้เป็นผลผลิตความภูมิใจจาก 'โรงเรียนนอกกะลา' สาขาแรก หรือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนระดับอนุบาลถึงป.6 ที่เขาเริ่มบุกเบิกและเปิดสอนไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2546 ถึงตอนนี้ นักเรียนรุ่นแรกพร้อมแล้วสำหรับการศึกษาต่อในระดับมัธยม
“เดี๋ยวขึ้นชั้น ม.2 เด็กๆ จะย้ายมาเรียนที่พัทยา มาเปิดหูเปิดตาพบสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ มาอยู่ใกล้ทะเล ไปแล่นเรือใบ” เสียงครูใหญ่คุยให้ฟังถึงอนาคตที่ดูน่าสนุกและตื่นเต้นไม่น้อยในปีหน้า เมื่อเขาวางแผนจะพาเด็กๆ ในชนบทอีสาน มาสัมผัสบรรยากาศการเรียนการสอนในอีกรูปแบบ โดยย้ายมาใช้ชีวิตในโรงเรียนกินนอนที่พัทยาตลอดหนึ่งปีการศึกษาในช่วงชั้น ม.2 จากนั้นจะย้ายกลับไปเรียนต่อจนจบชั้น ม.6 ที่บุรีรัมย์ตามเดิม
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างแนวคิดนอกกรอบที่กำลังเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนต้นแบบที่มุ่งหวังจะปฏิวัติการเรียนการสอนที่เคยมีมาในระบบการศึกษาไทย
บนปรัชญา 'การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์' ซึ่งหมายถึงการเรียนการสอนที่พัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งร่างกาย ความคิด อารมณ์และจิตวิญญาณ ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข
ในโรงเรียนมัธยมที่อาคารเรียนทั้งหมดสร้างจากไม้ไผ่ ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างจากมูลนิธิไม้ไผ่ ประเทศอินโดนีเซีย เน้นความเป็นธรรมชาติ สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มีชัย เล่าว่า โรงเรียนที่นี่เป็นมากกว่าห้องเรียน แต่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาที่ขยายไปสู่ครอบครัวและชุมชนที่อยู่รอบตัวเด็กๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การทำเกษตรรูปแบบใหม่ๆ การสอนเรื่องธุรกิจในหลักสูตร Bare foot MBA หรือเอ็มบีเอเท้าเปล่า รวมไปถึงการสร้าง Design School ที่จะยกระดับความคิดสร้างสรรค์ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นับเป็นการก้าวต่ออีกขั้นจากการจัดการเรียนการสอนที่เคยทำที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนนอกกะลาที่ไม่มีการสอบ ไม่มีเสียงระฆัง ไม่ต้องใช้แบบเรียน ไม่มีดาวให้นักเรียน ไม่ได้จัดลำดับความสามารถผู้เรียน เป็นโรงเรียนที่ครูสอนด้วยเสียงที่เบาที่สุด โรงเรียนที่พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก โรงเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข
“ที่ลำปลายมาศพัฒนา เราสร้างห้องเรียนแบบหกเหลี่ยม ให้เด็กๆ นั่งล้อมวงเรียนในห้อง ไม่มีเด็กหน้าห้องหลังห้อง ทุกๆ เช้าเด็กและครูต้องกอดกัน มีการทำกิจกรรมพัฒนาคลื่นสมอง สร้างความผ่อนคลายและอารมณ์ที่ดีกับเด็กก่อนเข้าเรียน
นอกจากนี้นักเรียนยังมีส่วนในการเลือกเรื่องที่จะเรียน และวางแผนจัดการการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่เครื่องแบบชุดนักเรียนที่เห็นเด็กๆ ใส่ก็มาจากความคิดของพวกเขาออกแบบกันเอง”
สร้าง 'ผู้นำ' ไม่ใช่ผู้ตาม
มีชัยเล่าย้อนถึงแนวคิดจุดประกายให้ลุกมาตั้งโรงเรียนว่า จากเดิมที่มูลนิธิเคยใช้วิธีการให้ทุนการศึกษา 2,400 ทุนต่อปี เพื่อช่วยเหลือให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่ด้วยกรอบความคิดและวิธีเดิมๆ ของการเรียนการสอน ผลผลิตทางการศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงผู้ตามของเมื่อวานมากกว่าสร้างผู้นำในอนาคต
“เลยเกิดความคิดว่าเราจะสามารถจัดระบบการศึกษาใหม่ พัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้ไหมเพื่อจะสร้างผู้นำของอนาคต สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม น่าจะยั่งยืนกว่าการให้ทุนการศึกษา หรือการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์”
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ จึงเริ่มต้นขึ้นแห่งแรกในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา ภายใต้การบริหารของครูวิเชียร ไชยบัง
ด้วยการจับฉลากเข้าเรียน เด็กๆ จากท้องไร่ท้องนาก็มีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี และดีเทียบเท่าโรงเรียนนานาชาติ แต่มีข้อพิจารณาที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองต้องสามารถรับส่งได้ทุกวัน และพร้อมที่จะร่วมมือทำกิจกรรมกับทางโรงเรียน
“เด็กๆ ที่นี่เรียนฟรี โดยใช้งบประมาณต่อหัวปีละ 3 หมื่นบาทนิดๆ แต่ผมเชื่อว่า เมื่อจบออกไปเติบโตขึ้นในวันข้างหน้า พวกเขาจะเป็นพลเมืองที่ดีและกลับมาตอบแทนคืนให้กับสังคม”
จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของครูใหญ่ที่ชื่อมีชัย คือ อยากบ่มเพาะสร้างคนให้เป็นครู ด้วยการจัดการศึกษาแบบนี้ผ่านหลักสูตรตลอด 14 ปีที่วางพื้นฐานตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6 เด็กๆ จากที่นี่น่าจะสามารถเป็นครูที่ดีได้
“ตอนนี้ เด็กบางคนก็เริ่มฉายแววแล้ว ด้วยการใช้เวลาว่างไปช่วยเป็นติวเตอร์สอนเด็กๆ คนอื่นในหมู่บ้าน”
6 ปีของการปฏิวัติการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กลายเป็นโรงเรียนในชนบทห่างไกลที่ได้มาตรฐานระดับโลก จากการประเมินของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทัสมาเนีย ออสเตรเลีย เมื่อปี 2549 และในปี 2550 จากผลการประเมินของสำนักงานประเมินและรับรองมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) ยังผ่านการประเมินในระดับที่ดีมาก 13 มาตรฐาน และระดับดี 1 มาตรฐาน
น่าจะพอพิสูจน์อะไรบางอย่างและเพิ่มความมั่นใจที่จะก้าวต่อ โดยเชื่อว่าโมเดลการศึกษารูปแบบใหม่นี้ น่าจะเป็นความหวังที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลงดีๆในสังคม
“ไม่มีประเทศใดในโลกที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์ ต้องมีคนอื่นเข้ามาช่วย ภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมีกำลังและความพร้อม ควรมองว่าน่าจะต้องแบ่งปันความช่วยเหลือตอบแทนสังคม สิ่งที่ภาครัฐต้องช่วยสนับสนุน คือ การลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจที่บริจาคเงินสร้างโรงเรียน ซึ่งตอนนี้ถ้าเป็นการบริจาคในรูปแบบนี้ยังไม่ได้รับการยกเว้น”
ปัจจุบันโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้การสนับสนุนโดยมูลนิธิเจมส์คลาร์ค ประเทศอังกฤษ ส่วนโรงเรียนมัธยมลำปลายมาศที่ขยายใหม่ส่วนหนึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเกตส์
และอีกส่วนหนึ่งมาเงินอุดหนุนจากสปอนเซอร์รุ่นจิ๋ววัย 4 ขวบ คือ ม้าเมฆและม้าหมอกหลานฝาแฝดชายหญิงตัวน้อยของตระกูลวีระไวทยะที่จัดสรรเงินมรดกมาร่วมก่อตั้งโรงเรียน เพราะอยากปลูกฝังให้หลานรู้จักการให้ และเรื่องจิตสาธารณะตั้งแต่เล็กๆ
นอกจากเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า โรงเรียนยังมีแหล่งรายได้อีกทางมาจากโมเดลการทำธุรกิจในกรุงเทพฯ เพื่อนำกำไรมาสนับสนุนกิจการการศึกษาฟรีให้กับเด็กๆ ผ่านธุรกิจร้านอาหารบนตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ โดยมีบริษัทเคพีเอ็มจีช่วยสนับสนุนค่าเช่า
รายได้เลี้ยงตัวเองอีกทางยังมาจากการเปิดคอร์สอบรมหลักสูตรครู ให้กับหน่วยงานและเครือข่ายโรงเรียนที่สนใจนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ไปใช้ โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารโรงเรียน และครู เข้ามาดูงานและฝึกอบรมที่นี่แล้วกว่า 200 โรงเรียน
เป็นความหวังของคุณครูใหญ่คนนี้ว่า อยากจะขยายโมเดลโรงเรียนนอกกะลาแห่งนี้ ออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อหยิบยื่นโอกาสไปสู่เด็กพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างพลังมากผลักดันสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
'มีชัย วีระไวทยะ' ตัดสินใจวางมือจากนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ในวันที่สมาคมซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งมีอายุครบรอบ 35 ปีพอดีในวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหันมาทุ่มสุดตัวกับงานปฏิวัติการศึกษา
35 ปีที่ผ่านมาของ PDA จุดประกายให้เกิดโครงการต่างๆ กระจายเครือข่ายทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่กว่า 25,000 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2,500 หมู่บ้าน คิดเป็นเม็ดเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 3,700 ล้านบาท
นับเป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ (NGO) ที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากเงินทุนตั้งต้นก้อนแรกเพียง 2,000 เหรียญสหรัฐ ด้วยจำนวนทีมงานไม่กี่สิบชีวิตในปี 2517
อ้างอิง : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/hi-life/20090527/45411/%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B0-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87-%E0%B8%A3.%E0%B8%A3.%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2.html